" ศิลปาชีพเรืองชื่อ เลื่องลือหลวงพ่อจง มั่นคงหลวงพ่อน้อย รอคอยที่ลานเท...o_o "
 
         
 
ข้อมูลระดับตำบล
 
 
ศูนย์บริการฯ
 
   
  แนวนโยบาย           
      ภายใต้แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่จะต้องส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อวางแผนพัฒนาการเกษตรภายใต้หลักการที่ประชาชนมีส่วนร่วมคิด  วิเคราะห์  และตัดสินใจในการกำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่ด้วยตนเอง  เพื่อให้ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง    กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดตั้งศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลขึ้น  เพื่อเป็นศูนย์กลางให้เกษตรกรได้เข้ามามีส่วนร่วมคิด  วิเคราะห์  วางแผน และบริหารจัดการแผนด้วยตนเอง  โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนด้านการบริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งด้านพืช  ปศุสัตว์  ประมง  รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารการเกษตรที่สำคัญแก่เกษตรกรในละกษณะบูรณาการ  ณ  จุดเดียว  คือ  ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล  จะไม่เน้นในด้านของอาคารสิ่งก่อสร้าง   แต่จะเน้นด้านการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเพิ่มศักยภาพเกษตรกร ในการพัฒนาการเกษตร ในตำบลของตนเองเป็นหลักการสำคัญ   
  วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์บริการ       
  1. ปรับเปลี่ยนกระบวนการในการพัฒนาการเกษตรที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สถาบันเกษตรกรและชุมชน  มีโอกาสและมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนด้วยตนเอง  และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในลักษณะบูรณาการ
2. ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานของส่วนราชการ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับท้องถิ่น  เป็นลักษณะบูรณาการ ให้เกิดการบริการเกษตรกรที่จุดเดียว  (One Stop Service)  โดยผ่านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล
3. เพิ่มศักยภาพของชุมชนในการวางแผนและพัฒนาตนเองในด้านการพัฒนาการเกษตร  เสนอแนะให้มีการใช้ประโยชน์จากงบ ประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการพัฒนาการเกษตร   รวมทั้งส่งเสริมการออมและระดมทุนของชุมชน  เพื่อการลงทุนทางธุรกิจ
 
 
  บทบาทของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร       
  1. เป็นศูนย์ประสานการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร
2. เป็นศูนย์ข้อมูลและบริการข่าวสารด้านการเกษตรแต่ละสาขา
3. เป็น  "เวทีชุมชน"    ในการวางแผนพัฒนาการเกษตรในตำบล
4. เป็นเวทีในการพบปะและร่วมจัดทำกิจกรรมของทุกส่วนราชการองค์กรต่างๆ  และเกษตรกร
5. เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการเกษตร  (การผลิต    การแปรรูป  ฯลฯ)
 
   
  บทบาทของคณะกรรมการศูนย์บริการฯ       
  ด้านการบริหาร          
  1. จัดทำข้อตกลงร่วมกัน เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการศูนย์บริการฯ
2.ให้มีการประชุมทุกเดือน  ร่วมกันแสดงความคิดเห็น  และตัดสินใจ  ในการบริหารจัดการศูนย์ฯ ได้แก่  การพิจารณากิจกรรม/โครงการการวางแผน  การปฏิบัติงาน  และติดตามผล
3.กระตุ้นให้ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวางแผนพัฒนา  ด้านการเกษตร  ตามแผนพัฒนาตำบล   ทั้งการแก้ไขปัญหาการผลิต   การส่งเสริมอาชีพและการตลาด  โดยมีการพัฒนาแผนทุกปี
4.วางแผนการปฏิบัติงานศูนย์บริการฯ  ร่วมกับบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
5.ประสานงานจัดหางบประมาณและบริหารจัดการเงินทุนของศูนย์บริการฯ
6. สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บริการฯ   อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่  เช่น  จัดคนไว้บริการเกษตรกรในแต่ละวันดูแลสถานที่ตั้งศูนย์  ฯลฯ
 
    ด้านการจัดกิจกรรมสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกร        
  1. จัดทำข้อมูลประจำตำบล   ได้แก่ สำรวจและรวบรวมข้อมูล พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกษตรกร  ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง , ร่วมกับเจ้าหน้าที่รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรของตำบล , สรุปผลข้อมูลและบริการข้อมูลแก่เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.จัดการถ่ายทอดความรู้    ได้แก่
     - หาความต้องการด้านการฝึกอบรม  ดูงาน  ฝึกงาน  หรือการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร
     - คัดเลือกและพัฒนาจุดสาธิต  และวิทยากรเกษตรกร
     - จัดกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้  เช่น  การฝึกอบรม   ดูงาน  แปลงสาธิต  ฯลฯ

3.สนับสนุนการจัดทำวิสาหกิจชุมชน   (ร่วมกันผลิต   ร่วมกันจำหน่าย)
4.ด้านการเตือนภัย   แจ้งข่าวเตือนภัยให้แก่ชุมชน   ให้เฝ้าระวัง และแจ้งข่าวให้สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ ที่รับผิดชอบ ทราบเหตุ ผิดปกติหรือ  หรือภัยธรรมชาติ   ภัยศัตรูพืช   สัตว์  ประมง   และภัยเศรษฐกิจอื่นๆ
5.การรับรองรายงานต่างๆ    เช่น   ตรวจสอบความถูกต้องของผู้ประสบภัย  สำรวจข้าวนาปี  นาปรัง  และข้อมูลการเกษตรอื่นๆ
6.สนับสนุนการสร้างและพัฒนาเครือข่าย   ทั้งด้านกลุ่มผู้ผลิต  กลุ่มแปรรูป   เครือข่ายการตลาด  หรือองค์กรในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
 
 
  ด้านประชาสัมพันธ์          
  1.ด้านประชาสัมพันธ์  เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทุกกิจกรรมของศูนย์บริการฯ  ให้ประชาชนรับทราบ  และเข้าร่วมกิจกรรม  เช่น ทางหอกระจายข่าว   นิทรรศการ   จัดกิจกรรม  ฯลฯ  
  บทบาทของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบศูนย์บริการฯ      
  การถ่ายทอดเทคโนโลยี  
  1. การจัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล  จากความต้องการของชุมชนรวมทั้งการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการถ่ายทอดเทคโนโลยี
2.ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี  โดยเตรียมก่อน การถ่ายทอดเทคโนโลยี  ได้แก่
    - การจัดทำหลักสูตร  การคัดเลือกเกษตรกร  จัดทำกำหนดการ  จัดเตรียมสถานที่และเอกสาร  จัดหางบประมาณ   และจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์
    - การสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกร ประสานงานและอำนวยความสะดวก  รวมทั้งการสร้างบรรยากาศและสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีในระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยี
    - การประเมินผลการเรียนรู้  ความรู้  ทักษะ และประสบการณ์ที่เกษตรกรได้รับจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร
3.รายงานผลที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี  โดยการประมวลสรุปผลการเรียนรู้และความพึงพอใจของเกษตรกร  ตลอดจนกิจกรรมหรือวิสาหกิจที่เกิดจากการถ่ายทอดเสนอต่อคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ  สำนักงานเกษตรอำเภอ  และสำนักงานเกษตรจังหวัด  และเมื่อสิ้นปีงบประมาณ  จัดทำรายงานผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีในภาพรวมของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล
4.จัดทำทะเบียนประวัติ  โดยการรวบรวมข้อมูลรายละเอียดของเกษตรกรผู้ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีในแต่ละเรื่อง  จัดแยกออกเป็นหมวดหมู่ตามสาขาอาชีพ  รวมทั้งการรวบรวมข้อมูล  ของวิทยากรที่ถ่ายทอดความรู้  จัดแยกเป็นวิทยากรจากหน่วยราชการ  และวิทยากรเกษตรกร
 
  การจัดทำข้อมูลพื้นฐานการเกษตร        
  1.ข้อมูลพื้นฐานประจำตำบล  โดยการรวบรวมข้อมูลประจำตำบลที่มีทั้งหมดมาปรับปรุงจัดทำในรูปแบบต่างๆ  ที่เข้าใจง่าย  เช่น   รูป
แผนที่  ตารางรูปภาพ  แล้วนำเสนอในเวทีชุมชน  เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นปัจจุบัน  และจัดทำเป็นเอกสารข้อมูลหลักของตำบล  เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาการเกษตรประจำตำบลและการปฏิบัติงานด้านต่างๆ
2.ข้อมูลภาวะการผลิตพืช  ประมง   ปศุสัตว์  โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม  และผ่านการวิเคราะห์ของคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯซึ่งจะต้องมีการจัดทำข้อมูลให้เป็นปัจจุบันทุก  2  เดือน 
3.ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร  ดำเนินการจัดทำทะเบียนเกษตรกรให้ครบทุกครัวเรือน  รวมทั้งการปรับปรุงและตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง  และเป็นปัจจุบัน  เก็บรวบรวมไว้ที่ศูนย์บริการฯ
 
 
  การพยากรณ์และการเตือนภัย   
  1. การพยากรณ์  ดำเนินการสำรวจข้อมูลตามแบบรายงานการคาดคะเนผลผลิตไม้ผลโดยการสำรวจและรายงาน   3  ช่วง  คือ  ช่วงติดดอก   ช่วงติดผลอ่อน  และช่วงให้ผลผลิตที่ได้รับจากจังหวัด  อำเภอ  แจ้งให้เกษตรกรทราบ
2.การเตือนภัยธรรมชาติ  ภัยศัตรูพืช  ภัยเศรษฐกิจ   ดำเนินการดังนี้
     -  เมื่อได้รับข้อมูลการเตือนภัยจากส่วนกลางผ่าน  จังหวัด   อำเภอ  แจ้งให้เกษตรกรทราบก่อนเกิดเหตุการณ์  เช่น  น้ำท่วม  ฝนแล้ง   ศัตรูพืชระบาด   ราคาผลผลิตตกต่ำ    เป็นต้น
     - เมื่อพบเหตุผิดปกติ  หรือภัยเริ่มต้น   เช่น   น้ำท่วมฉับพลัน   คลองชลประทานชำรุด   เกิดโรคระบาดพืช    สัตว์   ประมง ปริมาณผลผลิตมากเกินกว่าที่คาดคะเนไว้หลายเท่า   การชุมชนเรียกร้องของเกษตรกร   เป็นต้น  ให้แจ้งด่วนไปยังอำเภอ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
การรายงานภัย   ให้รีบรายงานความเสียหายไปยังอำเภอ  ภายใน   24  ชั่วโมง   ให้มีการกลั่นกรองรายงานโดยรอบคอบ   ตามระเบียบของ
างราชการ  โดยระดับตำบลต้องผ่านคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล
 
  ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากศูนย์บริการฯ  
  1. มีศูนย์กลางในการให้บริการของหน่วยงานต่างๆ  แก่เกษตรกร  เช่น  การบริการตรวจวิเคราะห์ดิน  การบริการตรวจสารพิษตกค้างในพืชผล  การตอนสัตว์   การตรวจวิเคราะห์น้ำบ่อปลา   เป็นต้น
2.ได้รับการบริการข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ  รวมทั้งการพยากรณ์   การเตือนภัยธรรมชาติภัยศัตรูพืช  และภัยเศรษฐกิจ
3.เป็นแหล่งให้ความรู้และเทคโนโลยีที่ถูกต้อง เหมาะสมแก่ชุมชน
4.ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคในการทำการเกษตร  ในรูปแบบต่างๆ  ทั้งด้านพืช   ปศุสัตว์   ประมง   พัฒนาที่ดิน  และอื่นๆ
5. เป็นศูนย์รวม และเป็นสถานที่ประชุม  พบปะแลกเปลี่ยนความรู้  ประสบการณ์ของเกษตรกรในชุมชน  ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาชุมชนกำหนดทิศทางพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง  เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม
6.เป็นจุดที่รวบรวม หรือแสดงผลิตภัณฑ์ของตำบล  เพื่อจัดให้มีการจำหน่ายผลผลิต  หรือซื้อขายโดยตรง
7. เป็นสถานที่ติดต่อยื่นคำขอรับบริการของเกษตรกร  ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร  ทั้งด้านพืช  สัตว์  ประมง   และอื่นๆ    เพื่อเสนอให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
 
     
 
 
          
   
วิสัยทัศน์กรมส่งเสริมการเกษตร
"เป็นองค์กรนำในการพัฒนาและ
ส่งเสริมครอบครัวเกษตรกรอยู่ดี
กินดี อย่างยั่งยืน"
สำนักงานเกษตรอำเภอบางไทร
84 หมู่ที่ 4 ต.บางไทร
อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 13190
โทรศัพท์ 0-3537-1242
E-Mail : bangsai_04@hotmail.com
 
คำขวัญกรมส่งเสริมการเกษตร
"มีคนอยู่ทั่วทิศ
เป็นมิตรแท้ของเกษตรกร"